วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

โรคสมองเสื่อม หรือ Alzheimer

โรคสมองเสื่อม (Alzheimer)
บทความโดย ปาณิสรา จันทร์นวล ม.6/2 เลขที่ 27


ทุกท่านคงเคยได้ยิน ได้ฟัง เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ แต่จะรู้จักมากน้อยแค่ไหน  เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้สักหน่อยดีไหม ??


   อัลไซเมอร์ เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุดโดยจะมีการเสื่อมของเซลล์สมอง ทุกส่วนเป็นแล้วไม่มีวันหาย ผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเอง ไม่สามารถแยกทุกผิด มีปัญหาในเรื่องการใช้ภาษา การประสานงานของกล้ามเนื้อเสียไป ความจำเสื่อม ในระยะท้ายของโรคจะสูญเสียความจำทั้งหมด  ในสหรัฐประมาณว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคนี้กว่า3-4 ล้านคน และจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก เนื่องจากประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 2-4 % ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากขึ้น กล่าวคือจะพบเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 5 ปี หลังอายุ 60 ปี

  ถึงแม้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์แต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันออกไป แต่ก็มีอาการที่พบร่วมกันหลายประการ อาการแรกสุดที่พบคือความเครียด ซึ่งมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นเองตามอายุ อาการที่พบในระยะแรกคือการสูญเสียความจำ เช่นพยายามจำข้อมูลที่เรียนรู้เมื่อไม่นานมานี้ไม่ได้ เมื่อแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์จะยืนยันการวินิจฉัยโดยการ ประเมินพฤติกรรมและทดสอบการรู้ และมักตามด้วยการสแกนสมอง เมื่อโรคดำเนินไประยะหนึ่งผู้ป่วยจะมีอาการสับสน หงุดหงิดง่ายและก้าวร้าว อารมณ์แปรปรวน เสียความสามารถทางภาษา สูญเสียความทรงจำระยะยาว และเพิกเฉยต่อสิ่งต่างๆ เนื่องจากผู้ป่วยเสียการรับความรู้สึก และต่อมาจะสูญเสียการทำงานต่างๆ ของร่างกาย และเสียชีวิตในที่สุด  การพยากรณ์โรคในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นทำได้ยากเนื่องจากระยะเวลาของโรคมีความหลากหลาย การดำเนินโรคของโรคนี้จะมีช่วงระยะเวลาที่ไม่แสดงอาการแน่ชัดก่อนจะปรากฏ อาการชัดเจน การคาดหมายคงชีพหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์โดยเฉลี่ยอยู่ประมาณ 7 ปี มีผู้ป่วยน้อยกว่าร้อยละ 3 ที่มีชีวิตอยู่ได้มากกว่า 14 ปีหลังได้รับการวินิจฉัย


สาเหตุของโรค 

1. จากความผิดปกติในเนื้อสมองจะพบลักษณะที่สำคัญสองอย่างคือกลุ่มใยประสาทที่พันกัน Neurofibrillary Tangles.และมีสาร Beta Amyloid ในสมอง ใยสมองที่พันกันทำให้สารอาหารไม่สามารถไปเลี้ยงสมอง การที่สมองมีคราบ Beta Amyloid หุ้มทำระดับ acetylcholine สมองลดลงสาร acetylcholine จะมีส่วนสำคัญในเรื่องการเรียนรู้และความจำ

2. การอักเสบ inflammatory สาร amyloid เมื่อสลายจะให้สารอนุมูลอิสระออกมา อนุมูลนี้จะทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์สมอง

3. กรรมพันธุ์ โรค Alzheimer ทีเกิด late onset จะมีการเพิ่มของ gene ที่ควบคุมการสร้าง apolipoprotein E4 (ApoE 4) ส่วนที่เกิด early onset จะมีการเปลี่ยนแปลงของ gene presenilin-1 (PS1) และ presenelin-2 (PS2) 


อาการเด่นของโรคอัลไซเมอร์ ก็คือ ความจำเสื่อมหรือ หลงลืม เรื่องที่ลืมก็จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ลืมปิดเตารีด ลืมกินยา  หรือใครมาพบวันนี้ ลืมชื่อคน ลืมของ หาของใช้ส่วนตัวไม่พบ ชอบพูดซ้ำ ถามคำถามซ้ำ เพราะจำคำตอบไม่ได้ มีปัญหาเรื่องการพูดและการใช้ภาษา คือจะคิดคำศัพท์บางคำไม่ออก ใช้คำใกล้เคียงแทน สติปัญญาความเฉลียวฉลาดลดลง ทักษะต่างๆ จะเริ่มสูญไป อารมณ์หงุดหงิด และอาจท้อแท้ เพราะอาการดังกล่าว


ปัจจัยเสี่ยง

1. อายุ ยิ่งอายุมากยิ่งมีโอกาสเป็นมากดังกล่าว พบว่าร้อยละ25ของผู้ป่วยอายุ 85ปี เป็นโรคนี้

2. โรคความดันโลหิตสูงเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูงทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความจำ การรักษาความดันจะทำให้ความจำดีขึ้น 

3. เรื่องของกรรมพันธุ์ ถ้ามีบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ โอกาสที่จะเป็นก็มากขึ้น เรื่องพันธุกรรมนี้มีความก้าวหน้าขึ้นมาก เช่น ทราบว่าความผิดปกติของยีน (gene) ที่สร้าง amyloid precursor protein จะทำให้ได้โปรตีนที่ผิดปกติ ก่อให้เกิดตะกอนที่เรียกว่า amyloid plaques ในเนื้อสมอง และผู้ที่มี gene บนโครโมโซมที่ 19 ชนิด Apolipoprotein E4 จะมีโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้มากกว่าคนปกติ นอกจากนี้ ยังพบโปรตีนที่ผิดปกติอื่นๆ เช่น Tau protein ที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดกลุ่มใยประสาทที่พันกัน (Neurofibrillary tangles) ที่พบเป็นลักษณะจำเพาะของพยาธิสภาพของโรคอัลไซเมอร์


ยากับโรคอัลไซเมอร์ 
การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน เริ่มมีความสำคัญ ในต่างประเทศพบว่าผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่รับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจนมี โอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์น้อยกว่า และเป็นโรคช้ากว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ยานี้

ยากลุ่มต้านการอักเสบที่เรียกว่า NSAID ก็พบว่า อาจมีบทบาทลดอุบัติการณ์ของโรค เนื่องจากพบว่าผู้ที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์มีประวัติใช้ยากลุ่มนี้น้อยกว่าผู้ ที่ไม่ได้เป็น นอกจากนี้ยาหรือสารต้านอ๊อกซิแดนท์ต่างๆ เช่น วิตามิน C และ E รวมถึงใบแปะก๊วย (gingo bibloa) ก็กำลังอยู่ในความสนใจ และมีการศึกษากันอย่างกว้างขวาง ว่าอาจจะช่วยหรือป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ 

ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีปริมาณเซลล์สมองลดลง และสารสื่อประสาท อะเซติลโคลีนลดลงด้วย สารสื่อประสาทนี้เป็นตัวเชื่อมโยงคำสั่งต่างๆ ของเซลล์สมองที่ควบคุมด้านความจำ ความคิดอ่านและพฤติกรรมต่างๆ เมื่อสารอะเซติลโคลีนลดลง จึงทำให้เกิดอาการต่างๆของโรคอัลไซเมอร์ ปัจจุบันมียาที่ช่วยเพิ่มปริมาณของสารอะเซติลโคลีนในสมอง โดยออกฤทธิ์ต้านเอ็นไซม์อะเซติลโคลีนเอสเตอเรสที่ย่อยสลายอะเซติลโคลีน ยานี้จึงช่วยให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มีอาการดีขึ้นได้ และชลอการทรุดลงของโรคถ้าได้ใช้ในระยะเริ่มแรก แต่จะไม่ทำให้โรคหายขาด  


การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ 

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ต้องให้ความเข้าใจ เห็นใจ ว่าผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจที่จะก้าวร้าว หงุดหงิดอย่างที่เราเห็น แต่เป็นจากตัวโรคเอง ไม่ควรทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่มั่นใจ อาย หรือหงุดหงิด เช่น ถ้าคุยอะไรแล้วผู้ป่วยนึกไม่ค่อยออกหรือจำไม่ได้ ควรเปลี่ยนเรื่อง เอาเรื่องที่คุยแล้วมีความสุข ผู้ป่วยไม่สามารถคิดเลขได้ ไม่สามารถเล่นดนตรีแต่สามารถร้องเพลงพร้อมกับวิทยุ เล่นหมากรุกไม่ได้ แต่สามารถเล่นเทนนีสได้ หรือถ้ามีความคิดอะไรผิดๆ ไม่ควรเถียงตรงๆ ถ้าไม่จำเป็นก็อาจไม่ต้องอธิบายมาก เนื่องจากจะทำให้หงุดหงิด และหมดความมั่นใจ ควรจัดห้องหรือบ้านให้น่าอยู่ สดใส ใช้สีสว่างๆ ถ้าในรายที่ชอบเดินไปมามากๆ ต้องใช้เทคนิคการเบี่ยงเบนความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรืออาจใช้การพาดเสื้อผ้า ไว้ที่ลูกบิดประตูเพื่อไม่ให้เห็นลูกบิด ต้องเก็บของมีคม หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มิดชิด ปิดวาวล์เตาแก๊สไว้เสมอ เป็นต้น
ในรายที่มีอาการที่เริ่มจะดูแลยาก เช่น ก้าวร้าวมาก เอะอะโวยวาย สับสนมาก หรือ เดินออกนอกบ้านบ่อยๆ ควรพาไปพบแพทย์ระบบประสาท เนื่องจากอาจจำเป็นต้องใช้ยาช่วยลดอาการดังกล่าว


 สรุปข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ ! 

1. อัลไซเมอร์เป็นโรค ไม่ใช่ภาวะสมองเสื่อมตามธรรมชาติ หรือตามอายุที่มากขึ้น
2. สาเหตุยังไม่ทราบชัด แต่น่าจะมีส่วนจากพันธุกรรม อาจมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ดังนั้นสามารถเกิดได้กับทุกคน
3. ขณะนี้ ยังไม่สามารถป้องกัน และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
4. การดูแล ความเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูแลผู้ป่วย
5. ถ้ามีญาติที่เริ่มมีอาการหลงลืม ควรพบแพทย์ระบบประสาท อาจเป็นสาเหตุอื่นที่รักษาหายขาดได้
6. โรคนี้มักเกิดในผู้สูงอายุ ดังนั้น ผู้ที่รู้สึกว่าหลงลืมบ่อยโดยที่อายุไม่มาก (20-50 ปี) มักเกิดจากสาเหตุอื่น ส่วนมากเกิดจากการพักผ่อนไม่พอ เครียด ไม่มีสมาธิ ควรแก้ไขสิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่ดีขึ้นค่อยปรึกษาแพทย์ เพราะมักเป็นสาเหตุที่รักษาให้หายขาดได้
7. เนื่องจากยังไม่มีการวินิจฉัยที่แน่นอน การวินิจฉัยจะอาศัยหลัก 3 ประการ
  - มีอาการสมองเสื่อม อาการจะเริ่มจากความจำเสื่อม การเรียนรู้เสียไป
  - อาการของโรคจะดำเนินต่อเนื่อง ไม่หาย
   - ต้องแยกภาวะหรือโรคอื่นที่ทำให้เกิดอาการสมองเสื่อม
8. ไม่ควรกลัวโรคนี้จนเกินไป เนื่องจากขณะนี้มีการวิจัยเรื่องนี้มากมายทั่วโลก เชื่อว่าอีกไม่นานนัก อาจมียาที่รักษาหรือป้องกันได้
9. ในทางการแพทย์ ยังไม่แนะนำให้ทานยาใดๆเพื่อป้องกัน เพราะมักไม่ได้ผล และยาหรือสมุนไพรหรืออาหารเสริมเหล่านี้ส่วนมากมีราคาแพง และมักโฆษณาเกินความจริง
 
 


  

1 ความคิดเห็น:

  1. 1xbet korean - legalbet.co.kr
    1xbet korean. 1xbet korean. 1xbet 가입 Sports Betting · Virtual Horse Racing · Virtual Greyhound Racing · Virtual Greyhound Racing · Virtual Greyhound Racing · Virtual

    ตอบลบ